ทิศทางอาเซียนกับการศึกษา


ทิศทางอาเซียนกับการศึกษา




ปี 2558 ภูมิภาคเราจะก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน หลายปีที่ผ่านมา เราได้ยินกระแสอาเซียนกันอย่างหนาหู แล้ว อาเซียนคืออะไร....
             อาเซียนเริ่มต้นจากสมาคมอาสา ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2504 โดยมีไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ก็ได้ถูกยกเลิกไป ต่อมาในปี พ.ศ.2510 ได้มีการลงนามใน "ปฏิญญากรุงเทพ” อาเซียน ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีรัฐสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการเพิ่มอัตรา การเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม วัฒนธรรม ในกลุ่มประเทศสมาชิก และการรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค โดยเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ หลังจาก พ.ศ.2527 เป็นต้นมา อาเซียนมีรัฐสมาชิกเพิ่มขึ้นจนมี 10 ประเทศ ปัจจุบัน กฎบัตรอาเซียนได้มีการลงนาม เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2551 ซึ่งทำให้อาเซียนมีสถานะคล้ายกับสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น เขตการค้าเสรีอาเซียนได้เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2553 และกำลังก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะประกอบด้วย
สามด้าน คือ ประชาคมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในปี พ.ศ.2558
             การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเฉพาะด้านของอาเซียน โดยความร่วมมือดังกล่าวมีพัฒนาการเป็นลำดับอย่างช้าๆ ทั้งในเชิงบริหารจัดการและสาระความร่วมมือ โดยในการบริหารจัดการนั้น มีความพยายามที่จะผลักดันให้ความร่วมมือด้านการศึกษาของอาเซียน มีลักษณะที่เป็นทางการและมีผลในเชิงนโยบายและในเชิงปฏิบัติมากขึ้น ต่อมาเมื่ออาเซียนมีการปรับตัวในเชิงโครงสร้างเพื่อให้ความร่วมมือในด้านต่างๆ ของอาเซียนเข้มแข็งขึ้น ได้มีการจัดการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนครั้งแรก คู่ขนานกับการประชุมสภาซีเมค ที่ประเทศสิงคโปร์ และมีการจัดอย่างต่อเนื่องทุกปี การจัดการศึกษาในอาเซียนเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็ง และความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของอาเซียนและเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การอุดมศึกษาในอาเซียน ได้กลายเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่และไร้พรมแดน เพื่อตอบสนองการเปิดเสรีการศึกษา ทั้งในกรอบอาเซียนและการค้าโลก เป็นผลให้เกิดกระแสการแข่งขันในการให้บริการด้านการศึกษา การเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการพัฒนามาตรฐานการศึกษาของสถาบันการอุดมศึกษาไปสู่ความเป็นนานาชาติ และ World Class University ตามระบบ และรูปแบบการจัดการศึกษาของยุโรปและอเมริกา ทั้งในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักภาษาหนึ่งในการเรียนการสอน เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และในประเทศที่ใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นหลักเช่น ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เพื่อตอบสนอง การเปลี่ยนแปลงและความต้องการของตลาดแรงงานในระดับชาติและภูมิภาค การปรับตัวต่อกระแส การเปิดเสรีทางการศึกษา กฎบัตรอาเซียน ฯลฯ แนวทางดังกล่าวก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในอาเซียนและประชาคมยุโรป ในลักษณะข้อตกลงที่ทำร่วมกันในระดับสถาบันต่อสถาบัน ทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยของภาคเอกชน ในด้านการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาสถาบันการศึกษาร่วมกัน ในขณะเดียวกันการจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ได้ช่วยส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาคณาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ทั้งระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันเอง และความร่วมมือกับประเทศคู่เจราจาในอาเซียนบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย รัสเซีย และสหภาพยุโรป อีกด้วย
             



ถึงตอนนั้น อาเซียนได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาแนวคิดกิจกรรม และการจัดการศึกษาร่วมกันในภูมิภาค บนรากฐานภูมิปัญญาระดับชาติและภูมิภาค เพื่อป้องกันสภาพไม่สมดุลจากการไหลบ่าเพียงด้านเดียวของกระแสโลกาภิวัตน์จากตะวันตก ปฏิญญาอาเซียนด้านการศึกษา ที่ผู้นำให้การรับรองในระหว่างการประชุม สุดยอดอาเซียน ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก สะท้อนการจัดการศึกษาแบบเชื่อมโยง การหลอมรวมความหลากหลายบนพื้นฐานของเอกลักษณ์และความแตกต่าง การพัฒนาและประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนวิชาการระหว่างชาติในภูมิภาคบนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในกรอบ ซีมีโออาเซียน และ ยูเนสโก
              นอกจากนี้ ความร่วมมือในการเปิดเสรีด้านการศึกษา ยังเป็นมาตรการรองรับสำคัญต่อเป้าหมายการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งครอบคลุมการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมด้านการศึกษา ความสามารถ ประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพสำคัญต่างๆ ควบคู่กับการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งกำหนดให้มีการยกเว้นข้อกำหนดเกี่ยวกับการขอวีซ่าสำหรับคนชาติอาเซียน การอำนวยความสะดวก ในการออกวีซ่า และใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานมีฝีมือและผู้เชี่ยวชาญสัญชาติอาเซียนอีกด้วย.


************
ที่มา: http://www.thaipost.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น