เศรษฐกิจไทย



เศรษฐกิจไทย เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ มีการพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสองในสามของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
ล่าสุด ไทยมีอัตราการเติบโตของจีดีพีอยู่ที่ 8.0% ใน พ.ศ. 2553 สูงกว่าตัวเลขของรัฐบาลชุดก่อน ๆ 5-7 คณะ ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในเอเชียและเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีจีดีพีทั้งสิ้น 9.5 ล้านล้านบาท (ตามความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ) หรือ 584,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นลำดับที่ 24 ของโลก นับว่าไทยมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอันดับที่ 2 รองจากอินโดนีเซีย แต่ประเทศไทยยังถูกจัดว่ามีการกระจายความมั่งคั่งอยู่ในระดับกลาง ๆ โดยเป็นประเทศที่มีจีดีพีต่อหัวสูงที่สุดเป็นอันดับ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามหลังสิงคโปร์ บรูไนและมาเลเซีย ประเทศไทยมีผลผลิตทางเศรษฐกิจมูลค่าปัจจุบัน (nominal economic output) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 ที่ 313,800 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่ถือครองสินทรัพย์ในรูปเงินตราต่างประเทศเป็นมูลค่า 172,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมรถยนต์ที่แข็งแกร่ง ซึ่งเติบโต 63% ใน พ.ศ. 2553 โดยมีรถถูกผลิต 1.6 ล้านคัน คิดเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ของโลก ผู้เชี่ยวชาญพยากรณ์ว่า ภายใน พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในสิบประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก
เศรษฐกิจไทยเป็นเสมือนเศรษฐกิจผูกติด (anchor economy) ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อนบ้าน คือ ลาว พม่าและกัมพูชา การฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ขึ้นอยู่กับการส่งออกเป็นหลัก ท่ามกลางปัจจัยอื่นอีกหลายประการ ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมส่งออกยานยนต์และผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รายได้จากการท่องเที่ยวกำลังเพิ่มขึ้นและคิดเป็น 6% ของจีดีพี
ประเทศไทยมีการลงทุนจากต่างประเทศและมีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสูง ระดับการว่างงานใน พ.ศ. 2553 อยู่ที่ 1.2% และมีการประเมินว่าจะลดลงเหลือ 1% ภายใน พ.ศ. 2555 จึงทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจหลายทศวรรษลดความยากจนในประเทศ และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราความยากจนต่ำที่สุดในเอเชีย ใน พ.ศ. 2553 ไทย ร่วมกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน บรูไนและมาเลเซีย เป็นประเทศในเอเชียที่มีประชากรทั้งประเทศน้อยกว่า 2% ดำรงชีพอยู่ด้วยเงินน้อยกว่า 1.25 ดอลล่าร์สหรัฐต่อวัน เนื่องจากราคาน้ำมันและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อประจำปี พ.ศ. 2553 จึงแตะระดับ 3.5% ในเดือนกรกฎาคม แต่ไม่คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นอีก เพราะราคาอาหารและน้ำมันเริ่มเสถียร และประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศและการลงทุนสูง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น