.ประเทศราชอาณาจักรไทย(Kingdom of Thailand)



ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand)

ที่ตั้ง                ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีน ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันออกติดกับประเทศลาวและกัมพูชา ทิศใต้ติดกับอ่าวไทยและประเทศ   มาเลเซีย ทิศตะวันตกติดกับทะเลอันดามันและประเทศพม่า ทิศเหนือติดกับประเทศพม่าและลาว
พื้นที่               513,120 ตารางกิโลเมตร เป็นอันดับที่ 50 ของโลก
เมืองหลวง      กรุงเทพมหานคร (Bangkok)
ประชากร        ประมาณ 67 ล้านคน (ปี 2553) เป็นอันดับที่ 19 ของโลก
ภาษา              ภาษาไทย เป็นภาษาราชการ
ศาสนา            ประมาณร้อยละ 95 นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 4 ศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นประมาณร้อยละ 1
การปกครอง ระบอบประชาธิปไตยผ่านระบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ประมุข          พระมหากษัตริย์ องค์ปัจจุบันคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงค์จักรี
ผู้นำรัฐบาล   นายกรัฐมนตรี ดำรงตำเเหน่งวาระละ 4 ปี ปัจจุบัน (สิงหาคม พ.ศ. 2554) คือนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร
หน่วยเงินตรา บาท (Baht ) 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 29.37 บาท
ประวัติศาสตร์ไทย
ประเทศไทยมีเนื้อที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในบริเวณตอนกลางของคาบสมุทรอินโดจีน ด้านตะวันออกมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สหภาพพม่าหรือเมียนหม่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา และมาเลเซีย รวมความยาวของแนวพรมแดน ทางบก 5,326 กิโลเมตร ส่วนอาณาเขตทางทะเลมีฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ยาว 1,878 กิโลเมตร และฝั่งทะเลด้านทะเลอันดามัน ยาว 937 กิโลเมตร รวมความยาวของชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน 2,815 กิโลเมตร

- พรมแดนติดต่อกับสหภาพพม่า มีความยาว 2,202 กิโลเมตร เป็นความยาวตามสันปันน้ำ ของทิวเขาแดนลาว ทิวเขาถนนธงชัย และทิวเขาตะนาวศรี รวม 1,664 กิโลเมตร และความยาวตามร่องน้ำลึกของแม่น้ำรวก แม่น้ำสาย แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำเมย แม่น้ำกระบุรี รวม 538 กิโลเมตร อยู่ในเขตพื้นที่ของ 10 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง
- พรมแดนติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความยาว 1,750 กิโลเมตร เป็นความยาวตามสันปันน้ำของทิวเขาหลวงพระบางและภูแดนเมือง ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งของทิวเขาพนมดงรัก รวม 650 กิโลเมตร และความยาวตามร่องน้ำลึกของแม่น้ำเหืองและแม่น้ำโขง รวม 1,100 กิโลเมตร อยู่เขตพื้นที่ของ 10 จังหวัดคือ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี
- พรมแดนติดต่อกับกัมพูชา มีความยาว 798 กิโลเมตร เป็นความยาวตามสันปันน้ำของเขาพนมดงรักและทิวเขาบรรทัด รวม 521 กิโลเมตร ความยาวตามร่องน้ำลึกของคลองน้ำใส ด่านคลองลึก และแม่น้ำไพลิน รวม 208 กิโลเมตร และความยาวตามแนวเส้นตรงเชื่อมต่อกันในพื้นที่ราบอีก 98 กิโลเมตร อยู่ในเขตพื้นที่ 7 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
- พรหมแดนติดต่อกับมาเลเซีย มีความยาว 576 กิโลเมตร เป็นความยาวตามสันปันน้ำของทิวเขาสันกาลาคีรี 481 กิโลเมตร และความยาวตามร่องน้ำของแม่น้ำโก-ลก 95 กิโลเมตร อยู่ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัด คือ สตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส
      
        คำว่าไทย เป็นชื่อรวมของชนเผ่ามองโกล ซึ่งแบ่งแยกออกเป็นหลายสาขา เช่น ไทยอาหม ในแคว้นอัสสัม ไทยใหญ่ ไทยน้อย ไทยโท้ในแคว้นตั้งเกี๋ย อุปนิสัยปกติมักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักสันติ และความเป็นอิสระ
         ความเจริญของชนชาติไทยนี้ สันนิษฐานว่า มีอายุไร่เรี่ยกันมากับความเจริญของ ชาวอียิปต์บาบิโลเนีย   และอัสสิเรียโบราณ ไทยเป็นชาติที่มีความเจริญมาก่อนจีน และก่อนชาวยุโรป ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพวกอนารยชนอยู่ เป็นระยะเวลา ประมาณ 5,000 - 6,000 ปีมาแล้ว ที่ชนชาติไทยได้เคยมีที่ทำกินเป็นหลักฐาน   มีการปกครองเป็นปึกแผ่น และมีระเบียบแบบแผนอยู่ ณ ดินแดนซึ่งเป็นประเทศจีนในปัจจุบัน
          เมื่อประมาณ 3,500 ปี ก่อนพุทธศักราช ชนชาติไทยได้อพยพข้ามเทือกเขาเทียนชาน เดินทางมาจนถึงที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ ณ บริเวณต้นแม่น้ำฮวงโห และแม่น้ำแยงซีเกียง และได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณที่แห่งนั้น แล้วละเลิกอาชีพเลี้ยงสัตว์แต่เดิม เปลี่ยนมาเป็นทำการกสิกรรม ความเจริญก็ยิ่งทวีมากขึ้น   มีการปกครองเป็นปึกแผ่น และได้ขยายที่ทำกินออกไปทางทิศตะวันออกตามลำดับ
ในขณะที่ชนชาติไทยมีความเป็นปึกแผ่นอยู่ ณ ดินแดนและมีความเจริญดังกล่าว ชนชาติจีนยังคงเป็นพวกเลี้ยงสัตว์ ที่เร่ร่อนพเนจรอยู่ตามแถบทะเลสาบแคสเบียน ต่อมาเมื่อไทยอพยพเข้ามาอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำ ชนชาติจีนจึงได้อพยพเข้ามาอยู่ในลุ่มน้ำดังกล่าวนี้บ้าง  และได้พบว่าชนชาติไทยได้ครอบครอง และมีความเจริญอยู่ก่อนแล้ว ในระหว่างระยะเวลานั้น   เราเรียกตัวเองว่าอ้ายลาว หรือพวกมุง ประกอบกันขึ้นเป็นอาณาจักรใหญ่ ถึงสามอาณาจักร ด้วยกันคือ
  • อาณาจักรลุง   ตั้งอยู่ทางตอนเหนือบริเวณต้นแม่น้ำเหลือง (หวงโห)
  • อาณาจักรปา   ตั้งอยู่ทางใต้ลงมาบริเวณพื้นที่ทางเหนือของมณฑลเสฉวน อาณาจักรปาจัดว่าเป็นอาณาจักรที่สำคัญกว่าอาณาจักรอื่น
  • อาณาจักรเงี้ยว   ตั้งอยู่ทางตอนกลางของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง
           ทั้งสามอาณาจักรนี้ มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ประชากรก็เพิ่มมากขึ้น จึงได้แผ่ขยายอาณาเขตออกมาทางทิศตะวันออก   โดยมีแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นแกนหลัก จากความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ถิ่นที่อยู่ใหม่ มีอิทธิพลทำให้เปลี่ยนแปลงอุปนิสัยเดิม ตั้งแต่ครั้งยังทำการเลี้ยงสัตว์ ที่โหดเหี้ยม และชอบรุกราน   มาเป็นชนชาติที่มีใจกว้างขวาง รักสงบพอใจความสันติ อันเป็นอุปนิสัยที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงไทยรุ่นหลังต่อมา
            เมื่อแหล่งทำมาหากินทางแถบทะเลสาบแคสเบียนเกิดอัตคัตขาดแคลน ทำให้ชนชาติจีนต้องอพยพเคลื่อนย้ายมาทางทิศตะวันออก เมื่อประมาณ 2,500 ปี ก่อนพุทธศักราช   ชนชาติจีนได้อพยพข้ามเทือกเขาเทียนชาน ที่ราบสูงโกบี จนมาถึงลุ่มแม่น้ำไหว จึงได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่นั้น และมีความเจริญขึ้นตามลำดับ   ปรากฎมีปฐมกษัตริย์ของจีนชื่อ ฟูฮี ได้มีการสืบวงค์กษัตริย์กันต่อมา แต่ขณะนั้นจีนกับไทยยังไม่รู้จักกัน   ล่วงมาจนถึงสมัยพระเจ้ายู้ จีนกับไทยจึงได้รู้จักกันครั้งแรก   โดยมีสาเหตุมาจากที่พระเจ้ายู้ ได้มีรับสั่งให้มีการสำรวจ พระราชอาณาเขตขึ้น ชาวจีนจึงได้มารู้จักชาวไทย ได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรอ้ายลาว จึงยกย่องนับถือถึงกับให้สมญาอาณาจักรอ้ายลาวว่า อาณาจักรไต๋ ซึ่งมีความหมายว่าอาณาจักรใหญ่ สันนิษฐานว่า เป็นสมัยแรกที่จีนกับไทยได้แลกเปลี่ยนสัมพันธไมตรีต่อกัน
            เมื่อประมาณ 390 ปี ก่อนพุทธศักราช พวกจีนได้ถูกชนชาติตาดรุกราน  พวกตาดได้ล่วงเลยเข้ามารุกรานถึงอาณาจักรอ้ายลาวด้วย อาณาจักรลุงซึ่งอยู่ทางเหนือ ต้องประสบภัยสงครามอย่างร้ายแรง ในที่สุดก็ต้องทิ้งถิ่นฐานเดิม อพยพลงมาทางนครปา ซึ่งอยู่ทางใต้ ปล่อยให้พวกตาดเข้าครอบครองนครลุง ซึ่งมีอาณาเขตประชิดติดแดนจีน ฝ่ายอาณาจักรจีนในเวลาต่อมาเกิดการจลาจล พวกราษฎรพากันอพยพหนีภัยสงคราม เข้ามาในนครปาเป็นครั้งแรก เมื่ออพยพมาอยู่กันมากเข้า ก็มาเบียดเบียนชนชาติไทยในการครองชีพ ชนชาติไทยทนการเบียดเบียนไม่ได้ จึงได้อพยพจากนครปามาหาที่ทำกินใหม่ทางใต้ครั้งใหญ่ เมื่อประมาณ 50 ปี ก่อนพุทธศักราช แต่อาณาจักรอ้ายลาวก็ยังคงอยู่จนถึงประมาณ พ.ศ. 175   อาณาจักรจีนเกิดมีแคว้นหนึ่ง คือ แคว้นจิ๋น มีอำนาจขึ้นแล้วใช้แสนยานุภาพเข้ารุกรานอาณาจักรอ้ายลาว นับเป็นครั้งแรกที่ไทยกับจีนได้รบพุ่งกัน ในที่สุดชนชาติไทยก็เสียนครปาให้แก่จีน เมื่อ พ.ศ.205 ผลของสงครามทำให้ชาวนครปาที่ยังตกค้างอยู่ในถิ่นเดิม อพยพเข้ามาหาพวกเดียวกันที่อาณาจักรเงี้ยว ซึ่งขณะนั้นยังเป็นอิสระอยู่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของจีน แต่ฝ่ายจีนยังคงรุกรานลงทางใต้สู่อาณาจักรเงี้ยวต่อไป ในที่สุดชนชาติไทยก็เสียอาณาจักรเงี้ยวให้แก่ พระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ เมื่อปี พ.ศ. 328

ตั้งแต่ พ.ศ. 400 - 621   เมื่ออาณาจักรอ้ายลาวถูกรุกรานจากจีน ทั้งวิธีรุกเงียบ และรุกรานแบบเปิดเผยโดยใช้แสนยานุภาพ จนชนชาติไทยอ้ายลาวสิ้นอิสระภาพ จึงได้อพยพอีกครั้งใหญ่   แยกย้ายกันไปหลายทิศหลายทาง เพื่อหาถิ่นอยู่ใหม่ ได้เข้ามาในแถบลุ่มแม่น้ำสาละวิน ลุ่มแม่น้ำอิรวดี บางพวกก็ไปถึงแคว้นอัสสัม   บางพวกไปยังแคว้นตังเกี๋ย เรียกว่าไทยแกว บางพวกเข้าไปอยู่ที่แคว้นฮุนหนำ พวกนี้มีจำนวนค่อนข้างมาก ในที่สุดได้ตั้งอาณาจักรขึ้น เมื่อ พ.ศ. 400  เรียกว่าอาณาจักรเพงาย
            ในสมัยพระเจ้าขุนเมือง ได้มีการรบระหว่างไทยกับจีน หลายครั้งผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ สาเหตุที่รบกันเนื่องจากว่า ทางอาณาจักรจีน พระเจ้าวู่ตี่ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และได้จัดสมณทูตให้ไปสืบสวนพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย แต่การเดินทางของสมณทูตต้องผ่านเข้ามาในอาณาจักรเพงาย   พ่อขุนเมืองไม่ไว้ใจจึงขัดขวาง ทำให้กษัตริย์จีนขัดเคืองจึงส่งกองทัพมารบ ผลที่สุดชาวเพงายต้องพ่ายแพ้ เมื่อ พ.ศ. 456
            ต่อมาอาณาจักรจีนเกิดการจลาจล ชาวนครเพงายจึงได้โอกาสแข็งเมือง ตั้งตนเป็นอิสระ จนถึง พ.ศ. 621 ฝ่ายจีนได้รวมกันเป็นปึกแผ่นและมีกำลังเข้มแข็ง ได้ยกกองทัพมารุกรานไทย สาเหตุของสงครามเนื่องจากพระเจ้ามิ่งตี่ กษัตริย์จีนได้วางแผนการขยายอาณาเขต โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ   โดยได้ส่งสมณฑูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังประเทศใกล้เคีย  สำหรับนครเพงายนั้น เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ไปถึงพ่อขุนลิวเมา ซึ่งเป็นหัวหน้าก็เลื่อมใส ชาวนครเพงายโดยทั่วไปก็ยอมรับนับถือเป็นศาสนาประจำชาติ ด้วยต่างก็ประจักษ์ในคุณค่าของพระธรรมอันวิเศษยอดเยี่ยม นับว่าสมัยนี้เป็นสมัยสำคัญ ที่พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้ามาถึงอาณาจักรไทย คือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 612   เมื่อเป็นเช่นนั้นฝ่ายจีนจึงถือว่าไทยต้องเป็นเมืองขึ้นของจีนด้วย   จึงได้ส่งขุนนางเข้ามาควบคุมการปกครองนครเพงาย เมื่อทางไทยไม่ยอมจึงเกิดผิดใจกัน ฝ่ายจีนได้กรีฑาทัพใหญ่เข้าโจมตีนครเพงาย นครเพงายจึงเสียอิสระภาพ เมื่อ พ.ศ. 621
            หลังจากนครเพงายเสียแก่จีนแล้ว ก็ได้มีการอพยพครั้งใหญ่กันอีกครั้งหนึ่ง ลงมาทางทิศใต้และทางทิศตะวันตก ส่วนใหญ่มักเข้ามาตั้งอยู่ตามลุ่มแม่น้ำ   ในเวลาต่อมาได้เกิดมีเมืองใหญ่ขึ้นถึง 6 เมือง ทั้ง 6 เมืองต่างเป็นอิสระแก่กัน ประกอบกับในห้วงเวลานั้นกษัตริย์จีนกำลังเสื่อมโทรม แตกแยกออกเป็นสามก๊ก  ก๊กของเล่าปี่ อันมีขงเบ้งเป็นผู้นำ ได้เคยยกมาปราบปรามนครอิสระของไทย ซึ่งมีเบ้งเฮกเป็นหัวหน้าได้สำเร็จ ชาวไทยกลุ่มนี้จึงต้องอพยพหนีภัยจากจีน
            ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 850 พวกตาดได้ยกกำลังเข้ารุกราน อาณาจักรจีนทางตอนเหนือ เมื่อตีได้แล้วก็ตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ทางเหนือมี ปักกิ่งเป็นเมืองหลวง   ส่วนอาณาจักรทางใต้ กษัตริย์เชื้อสายจีนก็ครองอยู่ที่เมืองน่ำกิง ทั้งสองพวกได้รบพุ่งกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่   ทำให้เกิดการจลาจลไปทั่วอาณาจักร   ผลแห่งการจลาจลครั้งนั้น ทำให้นครอิสระทั้ง 6 ของไทย คือ ซีล่ง ม่งเส ล่างก  มุ่งซุย   เอี้ยแซ และเท่งเซี้ยง กลับคืนเป็นเอกราช
            นครม่งเสนับว่าเป็นนครสำคัญ เป็นนครที่ใหญ่กว่านครอื่นๆ และตั้งอยู่ต่ำกว่านครอื่น ๆ จึงมีฐานะมั่นคงกว่านครอื่น ๆ ประกอบกับมีกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ และเข้มแข็ง คือ พระเจ้าสินุโล พระองค์ได้รวบรวมนครรัฐทั้ง 6 เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันรวมเรียกว่า อาณาจักรม่งเส หรือ หนองแส จากนั้นพระองค์ได้วางระเบียบการปกครองอาณาจักรอย่างแน่นแฟ้น พระองค์ได้ดำเนินนโยบายผูกมิตรกับจีน  เพื่อป้องกันการรุกราน เนื่องจากในระยะนั้นไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาสร้างตัวจนมีอำนาจ เป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีอาณาเขตประชิดติดกับจีน ทางฝ่ายจีนเรียกอาณาจักรนี้ว่า อาณาจักรน่านเจ้า
            แม้ว่าอาณาจักรน่านเจ้าจะสิ้นรัชสมัยพระเจ้าสินุโลไปแล้วก็ตาม พระราชโอรสของพระองค์ซึ่งสืบราชสมบัติ ต่อมาก็ทรงพระปรีชาสามารถ นั่นคือพระเจ้าพีล่อโก๊ะ   พระองค์ได้ทำให้อาณาจักรน่านเจ้าเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม อาณาเขตก็กว้างขวางมากขึ้นกว่าเก่า งานชิ้นสำคัญของพระองค์อย่างหนึ่งก็คือ การรวบรวมนครไทยอิสระ 5 นครเข้าด้วยกัน   และการเป็นสัมพันธไมตรีกับจีน
            ในสมัยนี้อาณาจักรน่านเจ้า ทิศเหนือจดมณฑลฮุนหนำ ทิศใต้จดมณฑลยูนาน ทิศตะวันตกจดธิเบต และพม่า และทิศตะวันออกจดมณฑลกวางไส   บรรดาอาณาจักรใกล้เคียงต่างพากันหวั่นเกรง และยอมอ่อนน้อมต่ออาณาจักรน่านเจ้าโดยทั่วหน้ากัน พระเจ้าพีล่อโก๊ะมีอุปนิสัยเป็นนักรบ จึงโปรดการสงคราม ปรากฎว่าครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จเป็นจอมทัพไปช่วยจีนรบกับชาวอาหรับ ที่มณฑลซินเกียง และพระองค์ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม   ทางกษัตริย์จีนถึงกับยกย่องให้สมญานามพระองค์ว่า ยูนานอ๋อง พระองค์เป็นกษัตริย์ที่เห็นการณ์ไกล มีนโยบายในการแผ่อาณาเขตที่ฉลาดสุขุมคัมภีรภาพ   วิธีการของพระองค์คือ ส่งพระราชโอรสให้แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่ทางทิศใต้ และทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่บริเวณ หลวงพระบาง   ตังเกี๋ย  สิบสองปันนา   สิบสองจุไทย (เจ้าไทย) หัวพันทั้งห้าทั้งหก
            กาลต่อมาปรากฎว่าโอรสองค์หนึ่งได้ไปสร้างเมืองชื่อว่า โยนกนคร ขึ้นทางใต้  เมืองต่าง ๆ ของโอรสเหล่านี้ต่างก็เป็นอิสระแก่กัน   เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าพีล่อโก๊ะ (พ.ศ.  1289) พระเจ้าโก๊ะล่อฝง   ผู้เป็นราชโอรสได้ครองราชยสืบต่อมา และได้ดำเนินนโยบายเป็นไมตรีกับจีนตลอดมาจนถึง พ.ศ. 1293 จึงมีสาเหตุขัดเคืองใจกันขึ้น   มูลเหตุเนื่องจากว่า เจ้าเมืองฮุนหนำได้แสดงความประพฤติดูหมิ่นพระองค์ พระองค์จึงขัดเคืองพระทัย ถึงขั้นยกกองทัพไปตีได้เมืองฮุนหนำ และหัวเมืองใหญ่น้อยอื่น ๆ อีก 32 หัวเมือง   แม้ว่าทางฝ่ายจีนจะพยายามโจมตีกลับคืนหลายครั้งก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดฝ่ายจีนก็เข็ดขยาด และเลิกรบไปเอง ในขณะที่ไทยทำสงครามกับจีน ไทยก็ได้ทำการผูกมิตรกับธิเบต เพื่อหวังกำลังรบ และเป็นการป้องกันอันตรายจากด้านธิเบต
            เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าโก๊ะล่อฝง ราชนัดดาคือเจ้าอ้ายเมืองสูง (อีเหมาซุน) ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา   มีเหตุการณ์ในตอนต้นรัชกาล คือไทยกับธิเบตเป็นไมตรีกัน และได้รวมกำลังกันไปตีแคว้นเสฉวนของจีน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ในเวลาต่อมา ธิเบตถูกรุกรานและได้ขอกำลังจากไทยไปช่วยหลายครั้ง   จนฝ่ายไทยไม่พอใจ ประจวบกันในเวลาต่อมา ทางจีนได้แต่งฑูตมาขอเป็นไมตรีกับไทย   เจ้าอ้ายเมืองสูงจึงคิดที่จะเป็นไมตรีกับจีน เมื่อทางธิเบตทราบระแคะระคายเข้าก็ไม่พอใจ   จึงคิดอุบายหักหลังไทย แต่ฝ่ายไทยไหวทันจึงสวมรอยเข้าโจมตีธิเบตย่อยยับ ตีได้หัวเมืองธิเบต 16 แห่ง ทำให้ธิเบตเข็ดขยาดฝีมือของไทยนับตั้งแต่นั้นมา
            ในเวลาต่อมากษัตริย์น่านเจ้าในสมัยหลังอ่อนแอ และไม่มีนิสัยเป็นนักรบ ดังปรากฎในตามบันทึกของฝ่ายจีนว่า ในสมัยที่พระเจ้าฟ้า ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ. 1420 นั้น ได้มีพระราชสาส์นไปถึงอาณาจักรจีน ชวนให้เป็นไมตรีกัน ทางฝ่ายจีนก็ตกลง เพราะยังเกรงในฝีมือ และความเข้มแข็งของไทยอยู่ แต่กระนั้นก็ไม่ละความพยายามที่จะหาโอกาสรุกรานอาณาจักรน่านเจ้า ปรากฎว่าพระเจ้าแผ่นดินจีนได้ส่งราชธิดา หงางฝ่า ให้มาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟ้า เพื่อหาโอกาสรุกเงียบในเวลาต่อมา โดยได้พยายามผันแปรขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนัก ให้มีแบบแผนไปทางจีนทีละน้อย ๆ ดังนั้นราษฎรน่านเจ้าก็พากันนิยมตาม จนในที่สุด อาณาจักรน่านเจ้าก็มีลักษณะคล้ายกับอาณาจักรจีน   แม้ว่าสิ้นสมัยพระเจ้าฟ้า กษัตริย์น่านเจ้าองค์หลัง ๆ ก็คงปฎิบัติตามรอยเดิม ประชาชนชาวจีนก็เข้ามาปะปนอยู่ด้วยมาก   แม้กษัตริย์เองก็มีสายโลหิตจากทางจีนปะปนอยู่ด้วยแทบทุกองค์ จึงก่อให้เกิดความเสื่อม ความอ่อนแอขึ้นภายใน มีการแย่งชิงราชสมบัติกันในบางครั้ง   จนในที่สุดเกิดการแตกแยกในอาณาจักรน่านเจ้า ความเสื่อมได้ดำเนินต่อไปตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ. 1823   ก็สิ้นสุดลงด้วยการโจมตีของกุบไลข่าน (Kublai Khan) กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรจีน อาณาจักรน่านเจ้าก็ถึงกาลแตกดับลงในครั้งนั้น
            ตามบันทึกของจีนโบราณกล่าวไว้ว่า นอกจากน่านเจ้าจะเป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีประชากร หนาแน่นแล้ว ยังมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูง   ทางด้านการปกครองได้จัดแบ่งออกเป็น 9 กระทรวง คือ กระทรวงว่าการทหาร กระทรวงจัดการสำมะโนครัว กระทรวงราชประเพณี กระทรวงยุติธรรม   กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงโยธา  กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงการต่างประเทศ มีเจ้าพนักงานสำหรับสอบคัดเลือกผู้เข้ารับราชการ   กองทหารก็จัดเป็น หมู่ หมวด กองร้อย กองพัน มีธงประจำกอง ทหารแต่งกายด้วยเสื้อกางเกงทำด้วยหนังสัตว์ สวมหมวกสีแดงมียอด ถือโลห์หนังแรด   มีหอกหรือขวานเป็นอาวุธ   หากใครมีม้าก็เป็นทหารม้า   ทรัพย์สินของรัฐมียุ้งฉางสำหรับเสบียงของหลวง มีโรงม้าหลวง มีการเก็บภาษีอากร มีการแบ่งปันที่นาให้ราษฎรตามส่วน   อาชีพทั่วไปของราษฎรคือการเพาะปลูก เมื่อรู้จักปลูกฝ้ายก็มีการทอผ้า
            ชนชาติต่าง ๆ ในแหลมสุวรรณภูมิก่อนที่ไทยจะอพยพมาอยู่ที่มีความเจริญน้อยที่สุดก็คือพวก นิโกรอิด (Negroid) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของ พวกเงาะ เช่น เซมัง ซาไก (Sakai) ปัจจุบันชนชาติเหล่านี้มีเหลืออยู่น้อยเต็มที   แถวปักษ์ใต้อาจมีเหลืออยู่บ้าง ในเวลาต่อมาชนชาติที่มีอารยธรรมสูงกว่า เช่น มอญ ขอม ละว้า ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน

  • ขอม   มีถิ่นฐานทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแหลมสุวรรณภูมิ ในบริเวณแม่น้ำโขงตอนใต้ และทะเลสาบเขมร
  • ลาวหรือละว้า   มีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นดินแดนตอนกลางระหว่างขอมและมอญ
  • มอญ   มีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำอิรวดี
                ทั้งสามชาตินี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกันมาก ตั้งแต่รูปร่าง หน้าตา ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณีสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นชนชาติเดียวกันมาแต่เดิม
อาณาจักรละว้า   เมื่อประมาณ พ.ศ. 700 ชนชาติละว้าซึ่งเข้าครอบครองถิ่นเจ้าพระยา ได้ตั้งอาณาจักรใหญ่ขึ้นสามอาณาจักรคือ
  • อาณาจักรทวาราวดี   มีอาณาเขตประมาณตั้งแต่ราชบุรี ถึงพิษณุโลก มีนครปฐมเป็นเมืองหลวง
  • อาณาจักรโยนกหรือยาง   เป็นอาณาจักรทางเหนือในเขตพื้นที่เชียงราย และเชียงแสน มีเงินยางเป็นเมืองหลวง
  • อาณาจักรโคตรบูรณ์   มีอาณาเขตตั้งแต่นครราชสีมาถึงอุดรธานี มีนครพนมเป็นเมืองหลวง
           อารยธรรมที่นำมาเผยแพร่ แหลมสุวรรณภูมิได้เป็นศูนย์กลางการค้าของจีน และอินเดียมาเป็นเวลาช้านาน จนกลายเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมผสม   ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณนี้ เป็นเหตุดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาอาศัย และติดต่อค้าขาย  นับตั้งแต่ พ.ศ. 300 เป็นต้นมา   ได้มีชาวอินเดียมาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมากขึ้นตามลำดับ   รวมทั้งพวกที่หนีภัยสงครามทางอินเดียตอนใต้ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งแคว้นโกศลได้กรีฑาทัพไปตีแคว้นกลิงคราฎร์   ชาวพื้นเมืองอินเดียตอนใต้ จึงอพยพเข้ามาอยู่ที่พม่า ตลอดถึงพื้นที่ทั่วไปในแหลมมลายู และอินโดจีน   อาศัยที่พวกเหล่านี้มีความเจริญอยู่แล้ว จึงได้นำเอาวิชาความรู้และความเจริญต่าง ๆ มาเผยแพร่
            ประมาณปี พ.ศ. 601 โกณฑัญญะ ซึ่งเป็นชาวอินเดียได้สมรสกับนางพญาขอม และต่อมาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ครอบครองดินแดนของนางพญาขอม จัดการปกครองบ้านเมืองด้วยความเรียบร้อย ทำนุบำรุงกิจการทหาร ทำให้ขอมเจริญขึ้นตามลำดับ  มีอาณาเขตแผ่ขยายออกไปมากขึ้น   ในที่สุดก็ได้ยกกำลังไปตีอาณาจักรโคตรบูรณ์ ซึ่งเป็นอาณาจักรที่อยู่ทางเหนือของละว้าไว้ได้   แล้วถือโอกาสเข้าตีอาณาจักรทวาราวดี
            ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1600   กษัตริย์พม่าผู้มีความสามารถองค์หนึ่ง คือ พระเจ้าอโนธรามังช่อ ได้ยกกองทัพมาตีอาณาจักรมอญ   เมื่อตีอาณาจักรมอญไว้ในอำนาจได้ แล้วก็ยกทัพล่วงเลยเข้ามาตีอาณาจักรทวาราวดี และมีอำนาจครอบครองตลอดไปทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา   อำนาจของขอมก็สูญสิ้นไป   แต่เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าอโนธรามังช่อ อำนาจของพม่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็พลอยเสื่อมโทรมดับสูญไปด้วย เพราะกษัตริย์พม่าสมัยหลังเสื่อมความสามารถ   และมักแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้แว่นแคว้นต่าง ๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้น ตั้งตัวเป็นอิสระได้อีก ในระหว่างนี้ พวกไทยจากน่านเจ้า ได้อพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมากขึ้น เมื่อพม่าเสื่อมอำนาจลง คนไทยเหล่านี้ก็เริ่มจัดการปกครองกันเองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา   ฝ่ายขอมนั้นเมื่อเห็นพม่าทอดทิ้งแดนละว้าเสียแล้ว ก็หวลกลับมาจัดการปกครองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกวาระหนึ่ง โดยอ้างสิทธิแห่งการเป็นเจ้าของเดิม   อย่างไรก็ตามอำนาจของขอมในเวลานั้นก็ซวดเซลงมากแล้ว   แต่เนื่องจากชาวไทยที่อพยพเข้ามาอยู่ยังไม่มีอำนาจเต็มที่ ขอมจึงบังคับให้ชาวไทยส่งส่วยให้ขอม   พวกคนไทยที่อยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ ไม่กล้าขัดขืน ยอมส่งส่วยให้แก่ขอมโดยดี จึงทำให้ขอมได้ใจ และเริ่มขยายอำนาจขึ้นไปทางเหนือ   ในการนี้เข้าใจว่าบางครั้งอาจต้องใช้กำลังกองทัพเข้าปราบปราม บรรดาเมืองที่ขัดขืนไม่ยอมส่งส่วย  ขอมจึงสามารถแผ่อำนาจขึ้นไปจนถึงแคว้นโยนก
            ส่วนแคว้นโยนกนั้น ถือตนว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของขอมมาก่อน จึงไม่ยอมส่งส่วยให้ตามที่ขอมบังคับ ขอมจึงใช้กำลังเข้าปราบปรามนครโยนกได้สำเร็จ   พระเจ้าพังคราช กษัตริย์แห่งโยนกลำดับที่ 43 ได้ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองเวียงสีทอง
            ดังได้ทราบแล้วว่าโอรสของพระเจ้า พีล่อโก๊ะ องค์หนึ่ง ชื่อพระเจ้าสิงหนวัติ ได้มาสร้างเมืองใหม่ขึ้นทางใต้ ชื่อเมืองโยนกนาคนคร เมืองดังกล่าวนี้อยู่ในเขตละว้า หรือในแคว้นโยนก   เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1111   เป็นเมืองที่สง่างามของย่านนั้น ในเวลาต่อมาก็ได้รวบรวมเมืองที่อ่อนน้อมตั้งขึ้นเป็นแคว้น ชื่อโยนกเชียงแสน มีอาณาเขตทางทิศเหนือตลอดสิบสองปันนา ทางใต้จดแคว้นหริภุญชัย มีกษัตริย์สืบเชื้อสายต่อเนื่องกันมา จนถึงสมัยพระเจ้าพังคราชจึงได้เสียทีแก่ขอมดังกล่าวแล้ว
            อย่างไรก็ตาม พระเจ้าพังคราชตกอับอยู่ไม่นานนัก ก็กลับเป็นเอกราชอีกครั้งหนึ่ง ด้วยพระปรีชาสามารถของพระโอรสองค์น้อย คือ พระเจ้าพรหม   ซึ่งมีอุปนิสัยเป็นนักรบ และมีความกล้าหาญ ได้สร้างสมกำลังผู้คน ฝึกหัดทหารจนชำนิชำนาญ แล้วคิดต่อสู้กับขอม ไม่ยอมส่งส่วยให้ขอม เมื่อขอมยกกองทัพมาปราบปราม ก็ตีกองทัพขอมแตกพ่ายกลับไป และยังได้แผ่อาณาเขตเลยเข้ามาในดินแดนขอม ได้ถึงเมืองเชลียง และตลอดถึงลานนา ลานช้าง แล้วอัญเชิญพระราชบิดา กลับไปครองโยนกนาคนครเดิม แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ว่าชัยบุรี ส่วนพระองค์เองนั้นลงมาสร้างเมืองใหม่ทางใต้ชื่อเมืองชัยปราการ ให้พระเชษฐา คือ เจ้าทุกขิตราช ดำรงตำแหน่งอุปราช   นอกจากนั้นก็สร้างเมืองอื่น ๆ เช่น เมืองชัยนารายณ์  นครพางคำ ให้เจ้านายองค์อื่น ๆ ปกครอง
            เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าพังคราช พระเจ้าทุกขิตราช ก็ได้ขึ้นครองเมืองชัยบุรี ส่วนพระเจ้าพรหม และโอรสของพระองค์ก็ได้ครองเมืองชัยปราการต่อมา   ในสมัยนั้นขอมกำลังเสื่อมอำนาจ จึงมิได้ยกกำลังมาปราบปราม ฝ่ายไทยนั้น แม้กำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ แต่ก็คงยังไม่มีกำลังมากพอที่จะแผ่ขยาย อาณาเขตลงมาทางใต้อีกได้   ดังนั้นอาณาเขตของไทยและขอมจึงประชิดกันเฉยอยู่
            เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าพรหม   กษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาอ่อนแอและหย่อนความสามารถ ซึ่งมิใช่แต่ที่นครชัยปราการเท่านั้น   ความเสื่อมได้เป็นไปอย่างทั่วถึงกันยังนครอื่น ๆ เช่น ชัยบุรี ชัยนารายณ์ และนครพางคำ ดังนั้นในปี พ.ศ. 1731  เมื่อมอญกรีฑาทัพใหญ่มารุกรานอาณาจักรขอมได้ชัยชนะแล้ว ก็ล่วงเลยเข้ามารุกรานอาณาจักรไทยเชียงแสน   ขณะนั้นโอรสของพระเจ้าพรหม คือ พระเจ้าชัยศิริ ปกครองเมืองชัยปราการ ไม่สามารถต้านทานศึกมอญได้ จึงจำเป็นต้องเผาเมือง เพื่อมิให้พวกข้าศึกเข้าอาศัย   แล้วพากันอพยพลงมาทางใต้ของดินแดนสุวรรณภูมิ   จนกระทั่งมาถึงเมืองร้างแห่งหนึ่งในแขวงเมืองกำแพงเพชร ชื่อเมืองแปป   ได้อาศัยอยู่ที่เมืองแปปอยู่ห้วงระยะเวลาหนึ่ง   เห็นว่าชัยภูมิไม่สู้เหมาะ เพราะอยู่ใกล้ขอม จึงได้อพยพลงมาทางใต้จนถึงเมืองนครปฐมจึงได้พักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น
            ส่วนกองทัพมอญ หลังจากรุกรานเมืองชัยปราการแล้ว ก็ได้ยกล่วงเลยตลอดไปถึงเมืองอื่น ๆ ในแคว้นโยนกเชียงแสน จึงทำให้พระญาติของพระเจ้าชัยศิริ ซึ่งครองเมืองชัยบุรี ต้องอพยพหลบหนีข้าศึกเช่นกัน ปรากฎว่าเมืองชัยบุรีนั้นเกิดน้ำท่วม   บรรดาเมืองในแคว้นโยนกต่างก็ถูกทำลายลงหมดแล้ว   พวกมอญเห็นว่าหากเข้าไปตั้งอยู่ก็อาจเสียแรง เสียเวลา และทรัพย์สินเงินทองเพื่อที่จะสถาปนาขึ้นมาใหม่ ดังนั้นพวกมอญจึงยกกองทัพกลับ   เป็นเหตุให้แว่นแคว้นนี้ว่างเปล่า ขาดผู้ปกครองอยู่ห้วงระยะเวลาหนึ่ง
            ในระหว่างที่ฝ่ายไทย กำลังระส่ำระสายอยู่นี้ เป็นโอกาสให้ขอมซึ่งมีราชธานีอุปราชอยู่ที่เมืองละโว้ ถือสิทธิ์เข้าครองแคว้นโยนก แล้วบังคับให้คนไทยที่ตกค้างอยู่นั้นให้ส่งส่วยให้แก่ขอม ความพินาศของแคว้นโยนกครั้งนี้ ทำให้ชาวไทยต้องอพยพแยกย้ายกันลงมาเป็นสองสายคือ สายของพระเจ้าชัยศิริ อพยพลงมาทางใต้ และได้อาศัยอยู่ชั่วคราวที่เมืองแปปดังกล่าวแล้ว ส่วนสายพวกชัยบุรีได้แยกออกไปทางตะวันออกของสุโขทัย จนมาถึงเมืองนครไทย
จึงได้เข้าไปตั้งอยู่ ณ เมืองนั้นด้วยเห็นว่าเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสม เพราะเป็นเมืองใหญ่ และตั้งอยู่สุดเขตของขอมทางเหนือ ผู้คนในเมืองนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไทย   อย่างไรก็ตามในชั้นแรกที่เข้ามาตั้งอยู่นั้น ก็คงต้องยอมขึ้นอยู่กับขอม ซึ่งขณะนั้นยังมีอำนาจอยู่
            ในเวลาต่อมา เมื่อคนไทยอพยพลงมาจากน่านเจ้าเป็นจำนวนมาก ทำให้นครไทยมีกำลังผู้คนมากขึ้น ข้างฝ่ายอาณาจักรลานนาหรือโยนกนั้น   เมื่อพระเจ้าชัยศิริทิ้งเมืองลงมาทางใต้ แล้วก็เป็นเหตุให้ดินแดนแถบนั้นว่างผู้ปกครองอยู่ระยะหนึ่ง   แต่ในระยะต่อมาชาวไทยที่ค้างการอพยพ อยู่ในเขตนั้นก็ได้รวมตัวกัน ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นหลายแห่งตั้งเป็นอิสระแก่กัน   บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นที่นับว่าสำคัญ มีอยู่สามเมืองด้วยกัน คือ นครเงินยาง อยู่ทางเหนือ นครพะเยา อยู่ตอนกลาง และเมืองหริภุญไชย อยู่ลงมาทางใต้ ส่วนเมืองนครไทยนั้นด้วยเหตุที่ว่ามีที่ตั้งอยู่ปลายทางการอพยพ และอาศัยที่มีราชวงศ์เชื้อสายโยนกอพยพมาอยู่ที่เมืองนี้ จึงเป็นที่นิยมของชาวไทยมากกว่าพวกอื่น จึงได้รับยกย่องขึ้นเป็นพ่อเมือง ที่ตั้งของเมืองนครไทยนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองบางยาง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ มีเมืองขึ้น และเจ้าเมืองมีฐานะเป็นพ่อขุน
            เมื่อบรรดาชาวไทย เกิดความคิดที่จะสลัดแอก ของขอมครั้งนี้ บุคคลสำคัญในการนี้ก็คือ พ่อขุนบางกลางท่าว ซึ่งเป็นเจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดได้ร่วมกำลังกันยกขึ้นไปโจมตีขอม จนได้เมืองสุโขทัยอันเป็นเมืองหน้าด่านของขอมไว้ได้ เมื่อปี พ.ศ. 1800   การมีชัยชนะของฝ่ายไทยในครั้งนั้น นับว่าเป็นนิมิตหมายเบื้องต้น แห่งความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติไทย และเป็นลางร้ายแห่งความเสื่อมโทรมของขอม เพราะนับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา ขอมก็เสื่อมอำนาจลงทุกที จนในที่สุดก็สิ้นอำนาจไปจากดินแดนละว้า แต่ยังคงมีอำนาจปกครองเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนใต้อยู่

ระยะแรกเมืองเชียงใหม่ยังไม่ได้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาอย่างแท้จริง หลังจากที่พระเจ้ามังรายสิ้นพระชนม์ที่เมืองเชียงใหม่ พระเจ้าชัยสงครามราชโอรส ได้ครองราชย์สืบมา และประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่เพียงยงสี่เดือน ก็เสด็จกลับไปประทับอยู่ที่เมืองเชียงราย ส่วนเมืองเชียงใหม่ทรงมอบให้พระเจ้าแสนภู ราชโอรส ปกครองแทน เมื่อพระเจ้าชัยสงครามสิ้นพระชนม์ที่เมืองเชียงราย พระเจ้าแสนภูได้ขึ้นครอง ราชสมบัติแทน พระเจ้าแสนภูทรงแต่งตั้งให้พระเจ้าคำฟู ราชโอรส ครองเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระองค์เสด็จกลับไปประทับที่เมืองเชียงราย และต่อมาทรงสร้างเมืองเชียงแสนขึ้นในบริเวณที่เชื่อว่าเป็นเมืองหิรัญนครเงินยางเดิม เมื่อสร้างเมืองเชียงแสนแล้วศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาได้เลื่อนมาอยู่ที่เมืองเชียงแสนแทน หลังจากนั้นพระเจ้าแสนภู ได้เสด็จมาประทับอยู่ที่เมืองเชียงแสนตลอดพระชนม์ชีพ นับแต่นั้นเป็นต้นมาเมืองเชียงแสนได้กลายเป็นเมืองสำคัญที่มีความเจริญทั้งในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
             เมื่อพระเจ้าแสนภูสิ้นพระชนม์ พระเจ้าคำฟูได้ขึ้นครองราชย์ พระเจ้าคำฟูทรงมอบให้ พระเจ้าผายูราชโอรสครองเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระองค์เสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองเชียงแสนและได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับเมืองน่าน ยกทัพไปตีเมืองพะเยาและสามารถรวมแคว้นพะเยาเข้ามาเป็นส่วหนึ่งของล้านนาได้ เมือพระเจ้าคำฟูสิ้นพระชนม์ พระเจ้าผายูได้สืบราชสมบัติแทน แต่ไม่ได้เสด็จไปประทับอยู่เมืองเชียงแสน คงประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ดังนั้น เมืองเชียงใหม่จึงได้มีความสำคัญกลายเป็นศูนย์กลาง ของราชอาณาจักรอีกครั้งและนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเมืองเชียงใหม่ได้กลายเป็นราชธานี ของอาณาจักรล้านนาอย่างแท้จริง และกษัตริย์ล้านนาในลำดับต่อๆมา จะประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่แทบทุกพระองค์
              สมัยพระเจ้ากือนา ขึ้นครองราชย์ ใน พ.ศ. 1898 พระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ ได้เข้ามาสู่ดินแดนล้านนา เนื่องจากพระเจ้ากือนา ได้อาราธนาพระสุมนเถระจากเมืองสุโขทัย มาเผยแพร่ พระศาสนาในเมืองเชียงใหม่ และดินแดนล้านนา พระสุมนเถระนั้นถือได้ว่ามีบทบาทอย่างสำคัญในการวางรากฐานพระพุทธศาสนา แบบลังกาวงศ์ในล้านนา การเข้ามาของพระพุทธศาสนา จากแค้วนสุโขทัยทำให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างล้านนากับสุโขทัย
             เมื่อสิ้นพระเจ้ากือนากษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระเจ้าแสนเมืองมา ราชบุตร ของพระเจ้ากือนา ครองราชย์อยู่ในระหว่าง พ.ศ. 1928-1944 เมือขึ้นครองราชย์มีอายุเพียง 14 พรรษา ในเวลานั้นเจ้ามหาพรหมเจ้าเมืองเชียงราย ซึ่งเป็นพระมาตุลาของพระเจ้าแสนเมืองมา ได้ยกกองทัพมาเมืองเชียงใหม่เพื่อแย่งชิงราชสมบัติ แต่ถูกกองทัพเมืองเชียงใหม่ตีพ่ายไป เจ้ามหาพรหมเสด็จไปขอความช่วยเหลือจาก สมเด็จพระบรมราชาที่1 แห่งกรุงศรีอยุธยา
              ใน พ.ศ. 1929 กรุงศรีอยุธยาจึงได้ยกกองทัพ มาตีเมืองเขลางค์นครแต่ถูกตีพ่ายกลับไป ไม่นานเจ้ามหาพรหม มาขอพระราชทานอภัยโทษและ ได้อันเชิญพระพุทธสิหิงค์ จากเมืองกำแพงเพชรมาถวายพระเจ้าแสนเมืองมาด้วย ซึ่งก็โปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ วัดลีเชียงพระ หรือวัดพระสิงห์ในปัจจุบัน ต่อมาพระเจ้าแสนเมืองมา ได้ยกกองทัพไปตีเมืองสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการศึกในครั้งนี้จะเป็นชนวนให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา
              เมื่อถึงสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนราชโอรสของพระเจ้าแสนเมืองมา ครองราชย์ ระหว่าง พ.ศ. 1945-1984 เป็นช่วงเวลาที่มีศึกสงครามทั้งทางเหนือและใต้ ท้าวยี่กุมกาม เจ้าเมืองเชียงรายซึ่งเป็นพระเชษฐาของ พระเจ้าสามฝั่งแกนไม่พอใจที่ไม่ได้ขึ้นครองราชย์ จึงขอกองทัพจากสุโขทัยไปช่วยรบแย่งชิงเมืองเชียงใหม่ แต่กองทัพสุโขทัยพ่ายแพ้กลับไป เหตุการณ์สำคัญประการหนึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน คือ การเข้ามาของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์สายใหม่หรือสายสิงหล ทำให้ดินแดนล้านนามีพระพุทธศาสนา 3 คณะคือ คณะพื้นเมืองเดิมจากเมืองหริภุญไชย คณะรามัญหรือลังกาวงศ์สายเก่า และคณะสิงหลหรือลังกาวงศ์สายใหม่
            พ.ศ. 1984 เจ้าชายลก โอรสองค์ที่ 6 ของพระเจ้าสามฝั่งแกน ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าสามฝั่งแกน   มีพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช หรือ สิริธรรมจักวรรดิติโลกราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ พระองค์ทรงสามารถขยายอาณาเขตออกไปได้อย่างกว้างขวาง ทางทิศใต้และทิศตะวันออก สามารถยึดเมืองน่านและเมืองแพร่ได้ ด้านทิศตะวันตกขยายไปจนถึงรัฐชาน หรือ ไทใหญ่ ได้ เมืองไลคา เมืองนาย เมืองสีป้อ เป็นต้น ด้านเหนือได้เมืองเชียงรุ้ง การที่ได้ เมืองแพร่ เมืองน่าน ถือได้ว่าเป็นการรวบรวม อาณาจักรล้านนาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนปรากฏถึงทุกวันนี้ และใช้เวลาในการรวมดินแดนล้านนาถึง 150ปีเศษ และการที่ได้เมืองแพร่ เมืองน่านนี้ นอกจากจะได้แหล่งเกลือที่มีค่าแล้วยังได้ช่องทางใหม่ที่จะลงไปทางใต้อีกสองช่องทางคือทางลำน้ำยม และลำน้ำน่าน ทำให้เกิดการแย่งเมืองสุโขทัย ขึ้นกับพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา และได้ทำสงครามระหว่างล้านนากับกรุงศรีอยุธยา ในครั้งนั้นทำให้ ล้านนา อ่อนกำลังลงมากเนื่องจากเสียรี้พลในการทำศึกสงคราม สาเหตุนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ พม่ายึดครอง ล้านนา ได้ในเวลาต่อมา ในสมัยพระเจ้าติโลกราช พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ทำการ สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งสำคัญเป็นครั้งที่ 8 ของโลก ณ วัดโพธารามมหาวิหาร หรือวัดเจ็ดยอด ทรงสร้างวัดและ ปูชนียสถาน หลายแห่ง เช่นองค์พระเจดีย์หลวง วัดป่าแดงหลวง วัดโพธารามมหาวิหาร
พระเจ้ายอดเชียงราย พระราชนัดดาของพระเจ้าติโลกราช ได้ครองราชย์ ต่อจากพระเจ้าติโลกราช ในระหว่าง พ.ศ. 2030 – 2038 ต่อมาได้ถูกบรรดาขุนนางปลดออกด้วยข้ออ้างที่ว่า ไม่ได้ทำความเจริญให้แก่บ้านเมือง และได้อภิเษก พระเจ้าเมืองแก้ว ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน
ในสมัยของพระเจ้าเมืองแก้วขึ้นครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2038 – 2064 ถือได้ว่า เป็นยุครุ่งเรือง สูงสุดของอาณาจักรล้านนา อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่า จะมีการทำศึกสงครามกับกรุงศรีอยุธยาอยู่บ้าง โดยลงไปตีเมืองสุโขทัย และบางครั้งได้เลยไปตีถึงเมืองกำแพงเพชร และเชลียง

ในช่วง พ.ศ. 2050 และในช่วง พ.ศ. 2058 สมเด็จพระรามาธิบดีที่2 แห่งกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพมาตีเขลางค์นครจนแตก แต่ไม่สามารถ ยึดครองได้ จนในที่สุดได้มีการทำสัญญาไมตรีต่อกัน เมื่อ พ.ศ. 2065 ถึงแม้ว่าอาณาจักรล้านนา จะเจริญสูงสุดในสมัยพระเจ้าเมืองแก้วนี้ แต่ในตอนปลายรัชสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว ได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงตุง แต่พ่ายแพ้ยับเยิน ทำให้สูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผลกระทบต่อความเข้มแข็งของอาณาจักรล้านนา ในเวลาต่อมา
           หลังจากสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าเมืองแก้วแล้ว บ้านเมืองเริ่มแตกแยก เกิดการแก่งแย่งชิงสมบัติกันบ่อยครั้ง อำนาจการปกครอง ได้ตกไปอยู่กับบรรดาขุนนาง เสนา อำมาตย์ ซึ่งสามารถที่จะแต่งตั้งหรือถอดถอนกษัตริย์ได้ พระเจ้าเมืองเกษเกล้าพระอนุชาของพระเจ้าเมืองแก้วขึ้นครองราชย์ได้ 13 ปีถูกเจ้าท้าวทรายคำราชบุตร และเสนาอำมาตย์แย่งชิงราชสมบัติ และเนรเทศพระเจ้าเมืองเกษเกล้าไปไว้ ณ เมืองน้อย ท้าวซายคำจึงได้ขึ้นครองราชย์แทน เมื่อท้าวซายคำชึ้นครองราชย์ได้ประพฤติผิดราชประเพณีจึงถูกบรรดาขุนนางอำมาตย์ ตั้งตัวเป็นขบถและทำการปลงพระชนม์แล้วอันเชิญ พระเจ้าเมืองเกษเกล้าขึ้นครองราชย์ดังเดิม แต่ครองราชย์ได้ไม่นาน ก็ได้ถูกบรรดาขุนนางคิดจะลอบปลงพระชนม์ เนื่องจากพระเจ้าเมืองเกษเกล้า ทรงเสียพระสติ ช่วงนี้จึงเกิดการแก่งแย่งชิงดีกันขึ้น บ้านเมืองเกิดการแตกแยก มีการทำสงครามภายในกันขึ้น
               ในช่วงนี้ พระนางจิรประภา ได้ขึ้นครองเมืองชั่วคราว ในขณะที่พระนางจิรประภา ครองราชย์อยู่ในขณะนั้น กรุงศรีอยุธยาได้ยกกองทัพเพื่อที่จะมายึดเมืองเชียงใหม่ และได้ล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ แต่พระนางจิรประภาไม่คิดที่จะตอบโต้จึงยอมส่งเครื่องราชบรรณาการให้กรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาจึงยอมยกทัพกลับ หลังจากนั้น พระนางจิรประภาได้สละราชสมบัติ และให้พระไชยเชษฐาขึ้นครองราชย์แทน แต่ก็ครองราชย์ได้เพียง 2 ปี ก็ทรงเสด็จกลับ ไปยังแคว้นล้านช้าง เนื่องจากพระเจ้าโพธิสารพระราชบิดา สิ้นพระชนม์อีกทั้งยังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง บรรดาขุนนางได้ ส่วนบรรดาขุนนางได้อัญเชิญพระเจ้าเมกุฏิแห่งเมืองนายซึ่งมีเชื้อสาย ของขุนเครือราชบุตรของพระเจ้ามังราย ขึ้นครองราชย์ ในขณะที่พระเจ้าเมกุฏิ ขึ้นครองราชย์ เป็นช่วงที่ ทางพม่าโดยพระเจ้าบุเรงนองต้องการขยายอำนาจ ได้ยกทัพ มาล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้และใช้เวลาเพียงสามวันก็สามารถ ยึดเมืองเชียงใหม่ได้อย่างง่ายดายในปี พ.ศ. 2101 อาณาจักรล้านนาจึงตกไปอยู่ในฐานะ เมืองขึ้นของพม่า แต่ว่าทางพม่าก็ยังให้พระเจ้าเมกุฏิปกครองเมืองเชียงใหม่ต่อไป
             หลังจากที่พม่าได้เข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว ในช่วงแรกนั้นทางพม่ายังไม่ได้เข้ามาปกครองเมืองเชียงใหม่โดยตรง แต่ยังคงให้พระเจ้าเมกุฎิ ทำการปกครองบ้านเมืองตามเดิม แต่ทางเชียงใหม่จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปให้กับทางพม่า ต่อมาพระเจ้าเมกุฎิคิดที่จะตั้งตนเป็นอิสระ ฝ่ายพม่าจึงปลดออกและแต่งตั้งพระนางราชเทวี หรือ พระนางวิสุทธิเทวี เชื้อสาย ราชวงค์ มังราย องค์สุดท้าย ขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ จนกระทั่งพระนางราชเทวีสิ้นพระชนม์ ทางฝ่ายพม่าจึงได้ส่งเจ้านายทางฝ่ายพม่ามาปกครองแทน เพื่อคอยดูแลความเรียบร้อยของเมืองเชียงใหม่และเพื่อควบคุมการส่งส่วย กลับไปพม่า อีกประการหนึ่งก็เพื่อที่จะเกณฑ์กำลังคนและเตรียมเสบียงอาหารเพื่อทำศึกสงครามกับทางกรุงศรีอยุธยา เชียงใหม่ในฐานะเมืองขึ้นของพม่าไม่ได้สงบสุขเหมือนสมัยก่อน มีการกบฎแย่งชิงอำนาจกัน อยู่ตลอดเวลารวมทั้งมีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างเจ้าเมืองตามหัวเมืองต่างๆ ก่อนที่ทางพม่าจะเข้ามายึดเมืองเชียงใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2306 และได้ใช้ล้านนาเป็นฐานสำคัญในการยกกองทัพเข้าตีกรุงศีรอยุธยา และช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลาที่ทางกรุงศรีอยุธยาได้เสียกรุงครั้งที่ 2 ให้กับพม่า รวมระยะเวลาที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเป็นเวลาถึง 200 กว่าปี
               การกอบกู้ล้านนา เกิดขึ้นเมื่อพระยาจ่าบ้าน บุญมา กับพระยากาวิละ เชื้อสายตระกูลเจ้าเจ็ดตน ได้ร่วมมือกันกอบกู้เอกราชโดยได้ไปสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้ขอให้ส่งกองกำลังมาตีพม่าที่มายึดล้านนา โดยพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้นำกองทัพเข้าตีเมืองเชียงใหม่ และยึดได้ในปี พ.ศ. 2317 และแต่งตั้ง ให้พระยาจ่าบ้านขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ และให้พระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองนครลำปาง หลังจากที่ยึดเมืองเชียงใหม่ได้แล้วก็ยังมีการสู้รบกัน เรื่อยมา ทั้งจากพม่าและหัวเมืองต่างๆ เช่น เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย
               ในปี พ.ศ. 2347 พระยากาวิละได้เข้าตีเมืองเชียงแสน และเมืองเชียงราย และได้ กวาดต้อนพลเมือง เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย และหัวเมืองต่างๆมาไว้ตามเมืองสำคัญเช่น เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน ส่วนหนึ่ง ก็ส่งไปกรุงเทพ การกอบกู้ อาณาจักรล้านนา ครั้งนี้ อาณาจักรล้านนายังไม่ได้เป็นเอกราชอย่างแท้จริง เพราะล้านนายังอยู่ในฐานะประเทศราชของแผ่นดินสยาม เมื่อพระยาจ่าบ้านเสียชีวิตลง พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดเกล้าให้พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางเป็น พระยาวชิรปราการเจ้าเมืองนครเชียงใหม่แทน เมื่อพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แล้ว ก็แบ่งไพร่พลจาก เมืองนครลำปาง ไปตั้งอยู่ที่ เวียงป่าซางเป็นเวลาถึง 14 ปี เพื่อรวบรวมไพร่พล จนถึง พ.ศ. 2339 จึงสามารถเข้าไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่ได้ และเริ่มสะสมกำลังพล เข้าตีเมืองต่างๆ เมื่อเข้าตีได้แล้วก็ได้ทำการกวาดต้อนพลเมืองจากเมืองต่างๆซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มชนหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ เช่น เงี้ยว ไตลื้อ ไตยอง ไตเขิน ข่า ลัวะ ยาง ให้เข้ามาเป็นพลเมืองล้านนา ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้จึงได้ชื่อว่า ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมืองซึ่งไพร่พลพลเมืองเหล่านี้ ได้เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยในการบูรณะบ้านเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ให้กลับคืนมา
             หลังจากล้านนาจากได้รับการฟื้นฟูโดยพระยากาวิละ แต่ยังคงมีฐานะเป็นประเทศราช ของกรุงเทพและมีเจ้าผู้ครองนครเป็นผู้ปกครอง โดยเจ้าผู้ครองนครจะมีอิสระในการปกครองเมือง แต่ต้องทำหน้าที่ในฐานะประเทศราช นอกจากการส่งเครื่องราชบรรณาการและส่วยแล้ว เมื่อมีงานพระราชพิธีจะมีการเกณฑ์สิ่งของเพื่อมาใช้ในงานพระราชพิธี หรือการก่อสร้างพระราชวังและวัด สิ่งของที่ถูกเกณฑ์มาก็จะมีไม้สัก ผ้าขาว น้ำรัก ในยามที่มีศึกสงคราม จะต้องมีการเกณฑ์ไพร่พล ลงมาช่วยโดยด่วน กองทัพเมืองเชียงใหม่เคยถูกเกณฑ์ไปช่วยรบหลายครั้งเช่นเมื่อครั้งกบฏเจ้าอนุวงศ์ การรวมล้านนาเข้ากับอาณาจักรสยาม

ในปี พ.ศ. 2369 ประเทศอังกฤษได้ทำสงครามกับประเทศพม่า และได้ดินแดนหัวเมืองมอญ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับล้านนา จึงมีชาวอังกฤษเข้ามาติดต่อค้าขายกับล้านนา และทำธุรกิจป่าไม้ในล้านนา ซึ่งในช่วงแรกๆนั้นยังไม่มีปัญหากันมากนัก เมื่ออังกฤษได้ดินแดนพม่าทางตอนล่าง อิทธิพลของอังกฤษก็ขยายมาใกล้ชิดกับล้านนามากขึ้น ก็มีชาวพม่าซึ่งอยู่ในบังคับของอังกฤษเข้ามาทำป่าไม้ในล้านนามากขึ้น จึงเกิดมีปัญหาขัดแย้งกับเจ้าเมืองผู้ให้สัมปทานป่าไม้ในท้องถิ่น กับคนในบังคับของอังกฤษมากขึ้น อังกฤษจึงเรียกร้องให้รัฐบาลกลางที่กรุงเทพ เข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
             ในปี พ.ศ. 2416 ทางกรุงเทพจึงได้ส่งพระนรินทรราชเสนี (พุ่ม ศรีไชยยันต์) ไปเป็นข้าหลวงสามหัวเมืองประจำที่เชียงใหม่ เพื่อควบคุมดูแลปัญหาในเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ขณะนั้นเหล่าหัวเมืองขึ้นของพม่าต่างเป็นอิสระ ได้ยกกำลังเข้าโจมตีหัวเมืองชายแดนล้านนา ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเกินกำลังที่เชียงใหม่จะจัดการได้ และในขณะนั้นสถานการณ์ภายในเมืองเชียงใหม่ก็มีปัญหา เนื่องจากพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ ไม่มีความเข้มแข็งในการปกครอง เจ้านายชั้นสูงจึงแย่งชิงอำนาจกัน ทำให้เป็นโอกาสดีของกรุงเทพฯ ที่จะเข้ามาปฏิรูปการปกครอง
               ระหว่างการปฏิรูปการปกครอง ในช่วงก่อนจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ.2427-2442) ตรงกับสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ. 2416-2439) ซึ่งนับว่าเป็นเจ้าเมืององค์สุดท้ายที่มีอำนาจปกครองบ้านเมือง เพราะเป็นช่วงแรกของการดำเนินงานรัฐบาลกลางมีนโยบายไม่ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองในทันที ยังคงใช้ดำรงตำแหน่งอย่างมีเกียรติ แต่ขณะเดียวกันก็พยายามลดอำนาจและผลประโยชน์ทีละน้อย รัฐบาลกลางได้ส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาจัดการปกครองในเมืองเชียงใหม่ ในลักษณะที่ร่วมกันปกครองกับเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลาน โดยที่ข้าหลวงพยายามแทรกอำนาจลงไปแทนที่ ส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งได้แก่รายได้จากการเก็บภาษีอากรส่วนหนึ่งต้องส่งกรุงเทพฯ นอกจากนั้น ป่าไม้ซึ่งแต่เดิมเป็นของเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานได้ถูกโอนเป็นของรัฐใน พ.ศ. 2439 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการพิราลัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และหลังจากสิ้นสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์แล้ว รัฐบาลกลางให้เจ้าอุปราชรั้งเมืองอยู่หลายปี จนกระทั่งเห็นว่าให้ความร่วมมือกับรัฐบาลกลางดี จึงมีการแต่งตั้งให้เจ้าอุปราชเป็นเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ 8 (พ.ศ. 2444-2452)
เมืองเชียงใหม่เติบโตอย่างมากหลังจากนโยบายเมืองหลัก ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2530 เป็นต้นมา
         ลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือเป็นทิวเขาทอดยาวจากเหนือลงมาใต้ ทิวเขาที่สำคัญได้แก่ ทิวเขาถนนธงชัย เป็นทิว เขาที่ใหญ่และยาวที่สุดของภาคเหนือ มียอดเขาสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศคือ ยอดเขาดอยอินทนนท์ อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ทิวเขาแดนลาวกั้นเขตแดนไทยกับพม่า มียอดเขาสูงเป็นอันดับสองของประเทศคือ ยอดดอยผ้าห่มปก อยู่ในอำเภอแม่อาย และยอดดอยหลวงเชียงดาวสูงเป็นอันดับ 3 อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และยังมีทิวเขาขุนตาล ทิวเขาผีปันน้ำตะวันตก ทิวเขานี้อยู่ระหว่างแม่น้ำ วังกับแม่น้ำยม ทิวเขาผีปันน้ำตะวันออก อยู่ระหว่างแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่าน ทิวเขาหลวงพระบาง กั้นเขตแดนระหว่างไทย กับลาว ทิวเขาเหล่านี้ประกอบไปด้วยภูเขาใหญ่น้อยมากมาย เช่น ดอยอินทนนท์ ดอยขุนตาล ภูชี้ฟ้า ภูผาตั้ง และยังเป็นที่อยู่ อาศัยของชาวเขาเผ่าต่างๆ ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง มูเซอ เย้า อีก้อ และลีซอ ส่วนพื้นที่ราบบริเวณหุบเขาและแถบลุ่มแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ลุ่มน้ำกก และน้ำอิง มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การ เพาะปลูกข้าว และพืชไร่ รวมทั้งไม้ผลหลากหลายชนิด
             ลักษณะนิสัยของชาวเหนือสังเกตได้จากภาษาพูด ซึ่งเป็นภาษาไทยท้องถิ่นที่มีความไพเราะอ่อนหวาน แสดงถึงความ สุภาพอ่อนโยนในจิตใจ ความโอบอ้อมอารี และความเป็นมิตร งานหัตถกรรมมากมายที่สร้างสรรค์เป็นข้าวของเครื่องใช้ และของที่ระลึกที่ได้รับความนิยม จนกลายเป็นสินค้าส่งออกที่นำรายได้เข้าประเทศ เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถบ่งบอกความ เป็นชาวไทยภาคเหนือได้เป็นอย่าง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น